ราชวงศ์บูร์บง (ค.ศ. 1593 – 1793) ของ ประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส

คาร์ดินัล ริเชอลิเออ

สมัยราชวงศ์บูร์บงเป็นสมัยที่ฝรั่งเศสรุ่งโรจน์ พระเจ้าอองรีที่ 4 ทรงส่งแซมมวล เดอ ชองแปลง (Samuel de Champlain) ไปตั้งเมืองคิวเบกและอาณานิคมแคนาดา ในปี ค.ศ. 1610 พระเจ้าหลุยส์ที่ 13 ครองราชย์แต่ยังพระเยาว์ มีคาร์ดินัล ริเชอลิเออ (Cardinal Richelieu) สำเร็จราชการแทน คาร์ดินัลริเชอลิเออทำลายล้างอำนาจของพวกอูเกอโนต์ที่ได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้าอองรีที่ 4 ในค.ศ. 1624 เกิดสงครามสามสิบปีในจักรวรรดิโรมันอันศักดิสิทธิ์ ฝ่ายสวีเดนเข้าช่วยฝ่ายโปรเตสแตนต์แต่ไม่เป็นผล คาร์ดินัลริเชอลิเออจึงให้ฝรั่งเศสเข้าร่วมรบฝ่ายโปรเตสแตนต์ ทั้งๆที่ฝรั่งเศสและตัวคาร์ดินัลเองเป็นคาทอลิก เพราะต้องการล้มอำนาจของสเปน ทัพฝรั่งเศสชนะสเปนที่โรครัว (ค.ศ. 1643) และเลนส์ (ค.ศ. 1648)

ในปี ค.ศ. 1643 คาร์ดินัลริเชอลิเออสิ้นชีวิต เกิดกบฏฟรองด์ ที่ต่อต้านอำนาจของกษัตริย์และที่ปรึกษา มีสเปนหนุนหลัง แต่ฝรั่งเศสก็สามารถปราบปรามได้ จนทำสนธิสัญญาพีรีนีส ในปี ค.ศ. 1659 ยึดแคว้นรูซิยอง (Roussillon) จากสเปน

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (ค.ศ. 1643 – 1715)

ปี ค.ศ. 1660 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงอภิเษกกับองค์หญิงมาเรีย เธเรซา พระธิดาของพระเจ้าฟิลิปที่ 4 แห่งสเปน ซึ่งพระเจ้าฟิลิปก็ป้องกันการอ้างสิทธิของฝรั่งเศสโดยการให้องค์หญิงมาเรียเธเรซาสละสิทธิ์ในดินแดนของสเปนทุกส่วน โดยมีสินสอด (ฝ่ายหญิงให้ฝ่ายชาย) จำนวนมหาศาลเป็นค่าตอบแทน ในค.ศ. 1661 พระเจ้าหลุยส์ทรงแต่งตั้งให้ฌ็อง-บาติสต์ กอลแบร์ เป็นเสนาบดีคลัง กอลแบร์สามารกอบกู้สถานะทางการเงินของฝรั่งเศสที่ใกล้จะล้มละลาย โดยการเก็บภาษีแบบใหม่ ทำให้เงินในพระคลังเพิ่มเป็นสามเท่า เป็นที่มาของความฟุ่มเฟือยในราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ที่แวร์ซาย

ปี ค.ศ. 1665 พระเจ้าฟิลิปที่ 4 สิ้นพระชนม์ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งสเปนขึ้นครองราชย์แทน แต่พระเจ้าหลุยส์ทรงอ้างว่า กฎเก่าแก่ของอาณาจักรดยุคแห่งบราบองต์ (แคว้นหนึ่งในประเทศภาคต่ำ) ว่าแคว้นนี้ต้องตกเป็นของบุตรธิดาของภรรยาคนล่าสุด ไม่ใช่คนแรกสุด ก็คือราชินีมาเรียเธเรซานั่นเอง ดังนั้นพระเจ้าหลุยส์จึงทวงแคว้นนี้คืนแก่พระราชินี เมื่อสเปนไม่ยอมจึงทำสงครามขยายดินแดนฝรั่งเศส (War of Devolution) และขณะนั้นเนเธอร์แลนด์กำลังทำสงครามกับอังกฤษ ซึ่งเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสตามสัญญาชั่วคราว พระเจ้าหลุยส์ทรงยึดฟลานเดอร์ส (Flanders) และฟรอง-กองเต (Franche-Comté) จากสเปนได้ ทำให้อังกฤษหันไปเข้าข้างเนเธอร์แลนด์เพื่อต้านฝรั่งเศส จนทำสนธิสัญญาเอกซ์-ลา-ชาเปลล์ ในค.ศ. 1668 คืนฟรอง-กองเตไปก่อน

ปี ค.ศ. 1672 พระเจ้าหลุยส์ทรงหลอกล่อให้พระเจ้าชาร์ลส์แห่งสเปนเข้าเป็นพันธมิตรได้ และประกาศสงครามกับเนเธอร์แลนด์ เป็นสงครามฝรั่งเศส-ฮอลันดา มีอังกฤษเข้าช่วยฝรั่งเศส แต่ฝ่ายเนเธอร์แลนด์ก็ทำสัญญาพันธมิตรกับสเปนได้แทนฝรั่งเศส รวมทั้งจักรพรรดิโรมันอันศักดิสิทธิ์ ฝ่ายอังกฤษสงบศึกกับเนเธอร์แลนด์ในค.ศ. 1647 ทิ้งฝรั่งเศสให้โดดเดี่ยว แต่ทัพฝรั่งเศสก็สามารถเอาชนะทัพผสมของหลายชาติได้ บุกยึดฟรอง-กองเต ทะลุทลวงไปถึงเนเธอร์แลนด์ จนทำสนธิสัญญาไนมีเกน (Nijmegen) ยกฟรอง-กองเตให้ฝรั่งเศส ในค.ศ. 1678

ด้วยความกำกวมของสนธิสัญญาต่างๆของยุโรปในสมัยนั้น พระเจ้าหลุยส์จึงทรงอ้างว่าดินแดนต่างๆที่เคยเป็นของแคว้นที่ฝรั่งเศสยึดมานั้น ต้องตกเป็นของฝรั่งเศสด้วย ทรงตั้งหอรวบรวมดินแดน (Chamber of Reunion) เพื่อใช้วิธีทางกฎหมายเรียกดินแดนต่างๆให้กับฝรั่งเศส ที่จริงแล้วพระเจ้าหลุยส์ทรงต้องการดินแดนเหล่านั้น เพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เช่น เมืองสตราสบูร์ก และลักเซมเบิร์ก

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 สุริยราชัน

ทศวรรษที่ 1680 เป็นสมัยเรืองอำนาจของฝรั่งเศสและพระเจ้าหลุยส์ วัฒนธรรมฝรั่งเศสต่างๆกลายเป็นแฟชั่นของยุโรป เอาอย่างความหรูหราที่พระราชวังแวร์ซาย ในค.ศ. 1682 ลา ซาล (La Salle) นักสำรวจตั้งชื่อดินแดนลุยเซียนา (Louisiana) ในอเมริกาตามพระนามพระเจ้าหลุยส์ และปีเดียวกันพระเจ้าหลุยส์ทรงประกาศนิกายกัลลิกัน (Gallicanism) จำกัดอำนาจพระสันตปาปาในฝรั่งเศส และให้พระเจ้าหลุยส์ทรงปกครององค์การศาสนาด้วยพระองค์เอง ในค.ศ. 1685 ทรงประกาศกฤษฎีกาฟองแตงโบล ยกเลิกกฤษฎีกาแห่งเมืองนังทส์ของพระอัยกาพระเจ้าอองรีที่ 4 เป็นการเลิกเสรีภาพทุกประการของกลุ่มโปรเตสแตนต์ อูเกอโนต์จึงหนีไปอาณานิคมหรืออังกฤษกันหมด

ปี ค.ศ. 1686 จักรพรรดิโรมันอันศักดิสิทธิ์และเจ้าเมืองเยอรมันต่างๆเล็งเห็นถึงการขยายอำนาจของฝรั่งเศส จึงตั้งสันนิบาตออกซ์บูร์ก (League of Augsburg) ค.ศ. 1688 พระเจ้าหลุยส์มีรับสั่งให้ยกทัพบุกเยอรมนีเพื่อทวงแคว้นพาลาติเนตคืนให้พระเจ้าน้องเขย แต่ปีเดียวกันวิลเฮม เจ้าชายแห่งออเรนจ์ (Prince of Orange) ผู้ครองเนเธอร์แลนด์ ยึดอำนาจในอังกฤษปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 แห่งอังกฤษ ทำให้อังกฤษเข้าร่วมสันนิบาตออกซ์บูร์ก กลายเป็นมหาพันธมิตร (Grand Alliance) เกิดสงครามมหาพันธมิตร (War of the Grand Alliance) พระเจ้าหลุยส์ทรงพยายามจะส่งพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษคืนบัลลังก์ แต่ก็ถูกทัพของพระเจ้าวิลเลียมทำลายทางทะเล แต่บนบกฝรั่งเศสยึดเนเธอร์แลนด์ได้หลายเมือง และทางสเปนก็ต้านไว้ได้ จนทำสนธิสัญญาไรสวิก (Ryswick) ฝรั่งเศสคืนดินแดนทั้งหมดที่ยึดมายกเว้นเมืองสตราสบูร์ก

ดูบทความหลักที่: สงครามสืบราชสมบัติสเปน

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งสเปนทรงไม่มีทายาท พระเจ้าหลุยส์จึงเสนอดยุคแห่งอังชู พระนัดดา เป็นกษัตริย์สเปนองค์ต่อไป แต่ฝ่ายจักรวรรดิโรมันอันศักดิสิทธิ์เสนออาร์คดยุดชาร์ลส์แห่งออสเตรียมาแข่ง แต่ค.ศ. 1700 พระเจ้าชาร์สส์ก่อนสิ้นพระชนม์ยกสเปนรวมทั้งอาณานิคมทั้งหมดให้ดยุคแห่งอังชู เป็นพระเจ้าฟิลิปที่ 5 แห่งสเปน ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์บูร์บงในสเปน สร้างความไม่พอใจทั่วยุโรป อีกทั้งพระเจ้าหลุยส์ยังทรงสนับสนุนเจมส์ สจ๊วด ผู้ทวงบัลลังก์อังกฤษของพระเจ้าวิลเลียม ทำให้อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และจักรวรรดิโรมันฯ ตั้งมหาพันธมิตรอีกครั้ง เกิดสงครามสืบราชบัลลังก์สเปน

ฝรั่งเศสส่งทัพบุกออสเตรียทางอิตาลี แต่ถูกต้านไว้ เป็นครั้งแรกที่ฝรั่งเศสพ่ายแพ้ ต่อมาฝรั่งเศสก็พ่ายแพ้ทุกทาง จนต้องกลับกลายเป็นฝ่ายตั้งรับในค.ศ. 1709 แต่ในสเปน ทัพพระเจ้าฟิลิปที่ 5 และทัพฝรั่งเศสก็สามารถเอาชนะต่างชาติได้หมด และฝรั่งเศสก็กลับมาเป็นฝ่ายบุกอีกในค.ศ. 1712 ในค.ศ. 1705 จักรพรรดิโจเซฟ พระเชษฐาของอาร์คดยุคชาร์ลส์สิ้นพระชนม์ ทำให้อาร์คดยุคชาร์ลส์ต้องขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิชาร์ลส์ที่ 6 แห่งจักรวรรดิโรมันฯ ทำให้ชาติต่างๆในยุโรป เสิกสนับสนุนจักรพรรดิชาร์ลส์ เพราะเกรงจะมีกำลังมากเกินไป ทำให้ฝ่ายอังกฤษเจรจาสงบศึกพระเจ้าหลุยส์ในค.ศ. 1713 เป็นสนธิสัญญาอูเทรกช์ท (Utrecht) และในค.ศ. 1714 กับจักรวรรดิโรมันฯในสนธิสัญญาราสตัตต์ และบาเดน ยอมรับราชวงศ์บูร์บงให้ปกครองสเปน ทำให้สเปนกลายเป็นพันธมิตรสำคัญของฝรั่งเศสต่อมา

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 สิ้นพระชนม์ในปีค.ศ. 1715 ก่อนวันคล้ายวันประสูติพระชนมายุ 77 พรรษาไม่กี่วัน ทรงครองราชย์ 72 ปี ยาวนานกว่ากษัตริย์ยุโรปอื่นใด พระองค์พระชนมายุยาวนานมาก จนพระโอรสและนัดดาสิ้นพระชนม์ไปก่อนหมด เหลือเพียงดยุคแห่งอังชูที่ยังพระเยาว์ ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศส

พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 (ค.ศ. 1715 – 1774)

พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ยังทรงพระเยาว์จนต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนหลายคน เริ่มที่ดยุคแห่งออร์เลียงส์ เข้าร่วมสงครามจตุรมิตร (War of the Quadraple Alliance - ประกอบด้วยฝรั่งเศส อังกฤษ ออสเตรีย และเนเธอร์แลนด์)เมื่อพระเจ้าฟิลิปที่ 5 แห่งสเปนและราชินีอลิซาเบธ ฟาร์เนสที่ทะเยอทะยาน ต้องการกอบกู้ดินแดนในอิตาลีและกลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำที่เสียไปในสงครามสืบราชสมบัติสเปน ผลคือความพ่ายแพ้ของสเปน ต่อมาคาร์ดินัล เฟลอรี (Cardinal Fleury) ทำสงครามสืบราชสมบัติโปแลนด์ สตานิสลาส เลสเซนสกี ต้องการเป็นพระมหากษัตริย์โปแลนด์ แต่จักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ต่อต้าน ฝรั่งเศสเห็นโอกาสที่จะทำลายอำนาจออสเตรีย จึงทำสงคราม แต่สนธิสัญญาเวียนนาใน ค.ศ. 1735 เลสเซนสกีได้เป็นดยุคแห่งลอร์เรน ซึ่งเมื่อเลสเซนสกีเสียชีวิตใน ค.ศ. 1766 แคว้นลอร์เรนจึงตกเป้นของฝรั่งเศส ทำให้ฝรั่งเศสมีอาณาเขตถึงปัจจุบัน

ด้วยความทะเยอทะยานของพระเจ้าฟรีดริชมหาราชแห่งปรัสเซีย ที่ต้องการจะยึดบัลลังก์จากจักรพรรดินีมาเรีย เธเรซา ด้วยเหตุที่พระนางเป็นสตรี ทำให้ยุโรปเกิดสงครามสืบราชสมบัติออสเตรีย ฝรั่งเศสจึงหวังจะได้ชิงบัลลังก์ออสเตรียบ้าง แต่ปรัสเซียก็เริ่มจะมีอำนาจมากไป จึงเกิดการปฏิวัติทางการทูต ฝรั่งเศสหันไปหาออสเตรียศัตรูเก่าแก่ เพื่อต้านปรัสเซียและบริเตน ผลคือสงครามเจ็ดปี การสู้รบมีในอาณานิคมด้วย ซึ่งฝรั่งเศสผูกมิตรกับชาวพื้นเมือง เพื่อช่วยรบกับบริเทน แต่พ่ายแพ้ยับเยิน จนสนธิสัญญาปารีส ค.ศ. 1763 ฝรั่งเศสเสียอาณานิคมในอเมริกาทั้งหมดให้บริเตน

ในศตวรรษที่ 18 ในยุโรปเป็นยุคภูมิธรรม (Age of Enlightenment) เป็นสมัยปรัชญาแนวคิดแบบใหม่ที่แปลกแยกออกจากธรรมเนียมเก่า ๆ เฟื่องฟู ฝรั่งเศสก็มีนักปราชญ์ที่สำคัญสามคนแห่งยุค คือ ฌ็อง-ฌัก รูโซ, มงแต็สกีเยอ และวอลแตร์ ที่เสนอคติแนวความคิดการปกครองแบบใหม่ ใน ค.ศ. 1751 มีการพิมพ์หนังสือ Encyclopédie เป็นหนังสือรวบรวมความรู้วิทยาการทุกแขนง

พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 (ค.ศ. 1774 – 1793)

พระนางมารี อังตัวเนต องค์หญิงชาร์ลอต องค์ชายหลุยส์-โจเซฟ และองค์ชายหลุยส์-ชาร์ลส์ (พระเจ้าหลุยส์ที่ 17)

ความฟุ่มเฟือยของราชสำนักและการแพ้สงครามทำให้เศรษฐกิจของฝรั่งเศสตกต่ำลง พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จึงทรงแต่งตั้งผู้ที่มีความสามารถเพื่อฟื้นฟูสถานภาพทางการเงินของฝรั่งเศส ได้แก่ ตูร์โกต์ ตูร์โกต์พยายามจะเก็บภาษีรูปแบบใหม่ๆ แต่ประชาชนได้ถูกเก็บภาษีหลายประการแล้ว ตูร์โกต์จึงเก็บภาษีจากสินค้าต่างๆแทน แต่บรรดาขุนนางกล่าวว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงไม่มีพระราชอำนาจที่จะตั้งภาษีใหม่ จำเป็นต้องเรียกประชุมสภาฐานันดร (Estates-General) เพื่อทำการอนุมัติภาษีเพิ่มเติม เมื่อไม่ได้ดังพระหฤทัยพระเจ้าหลุยส์ทรงปลดตูร์โกต์ออกจากตำแหน่ง และทรงตั้งนายเน็กแกร์ขึ้นมาทำหน้าที่แทนในค.ศ. 1776 เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่อาณานิคมของบริเทนในอเมริกาประกาศเอกราชในสงครามปฏิวัติอเมริกา เนคแกร์ให้สนับสนุนแก่ฝ่ายอเมริกาโดยส่งมาร์ควิสลา ฟาแยตไปช่วย จนฝ่ายอเมริกามาประกาศเอกราชที่ปารีสในค.ศ. 1783

ปี ค.ศ. 1783 พระเจ้าหลุยส์ทรงแต่งตั้งกาโลนน์ให้ดูแลเรื่องพระคลัง กาโลนน์ใช้วิถีการแก้ปัญหาโดยการใช้จ่ายอย่างมากมายเพื่อสร้างเครดิต กาโลนน์ขอให้สภาขุนนางค.ศ. 1787 ผ่านร่างวิธีแก้ปัญหาแบบที่ใช้เงินมากนี้ แต่บรรดาขุนนางยับยั้งร่างไว้ พระเจ้าหลุยส์จึงทรงตั้งเดอเบรียงขึ้นมาแทน เดอเบรียงใช้กำลังบังคับให้ฝ่ายขุนนางผ่านร่างแก้ปัญหาของเขา จนเกือบจะเกิดจลาจลเพราะการบังคับใช้อำนาจของเดอเบรียง ในค.ศ. 1789 เดอเบรียงจึงถูกปลดและพระเจ้าหลุยส์ทรงแต่งตั้งให้เน็กแกร์กลับมารับราชการแก้ไขปัญหาอีกครั้ง

ใกล้เคียง

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์สหรัฐ ประวัติศาสตร์สเปน ประวัติศาสตร์เยอรมนี ประวัติการบินไทย